ชีวประวัติโดยย่อ ของ ธีรยุทธ บุญมี

ธีรยุทธ บุญมี เกิดในครอบครัวที่ยากจน มีบิดาเป็นทหาร[3] เขารับศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย บิดาชื่อนายฉิม บุญมี มารดาชื่อนางสมจิตร บุญมี มีนิสัยรักการอ่านมาแต่เด็ก หัวดี และเรียนเก่ง มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์เป็นพิเศษ ด้วยความสนใจเขาได้เขียนนิยายวิทยาศาสตร์ส่งนิตยสารอย่างวิทยาสารและชัยพฤกษ์ตอนอยู่ ม.ศ. 4-5[ต้องการอ้างอิง] เขาได้รู้จักกับนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง เช่น ศ.ดร. ระวี ภาวิไล ซึ่งเป็นรุ่นพี่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และ ศ.ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต และได้มีโอกาสสนทนากับนักวิทยาศาสตร์ทั้งสอง ส่วนด้านงานเขียนเขาก็สนิทสนมคลุกคลีกับ สุจิตต์ วงษ์เทศ และ เสถียร จันทิมาธร ซึ่งเป็นนักเขียนแถวสยามรัฐ

ชีวิตนักศึกษา

ธีรยุทธ บุญมี สมัครสอบเข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย ปัญหาความยากจนของทางบ้าน เขาจึงเลือกที่เป็นวิศวกรแทนที่จะไปทางสายวิทยาศาตร์ที่ชอบเนื่องจากเขาสอบติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นที่หนึ่งของประเทศในสายวิทยาศาสตร์ ด้วยคะแนน 91.90 เปอร์เซนต์ในปี พ.ศ. 2511 เขาไม่สามารถสมัครสอบทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนต่อต่างประเทศเช่นเดียวกับผู้สอบได้อันดับหนึ่งคนอื่นๆ ด้วยเหตุผลว่าอายุเกิน แต่เนื่องจากวิชาทางวิศวกรรมศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ทำให้เขาหันเหความสนใจไปด้านกิจกรรมตอนเป็นนิสิต จากกิจกรรมเชิงวิชาการ ขยับมาเป็นกิจกรรมด้านสังคม

ธีรยุทธ บุญมี เข้าเป็นสมาชิกศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างนิสิตนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ และได้เป็นเลขาธิการเมื่อปี พ.ศ. 2515 ช่วงนั้น ศนท. มีบทบาททางการเมืองในการรณรงค์เรียกร้องต่างๆ เช่นการรณรงค์ให้ชื้อสินค้าไทยและไม่ซื้อสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น เรื่องการล่าสัตว์ป่าของกลุ่มนายทหารและตำรวจในทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นต้น

เหตุการณ์ 14 ตุลา

ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ธีรยุทธ บุญมี เป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งกลุ่มเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจำนวน 100 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อขอรัฐธรรมนูญคืนจากรัฐบาลเผด็จการซึ่งนำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งวันนั้นเป็นวันเสาร์ สมาชิกกลุ่มจำนวน 25 คน ได้ไปถือโปสเตอร์ แจกใบปลิว หนังสือ และบัตรลงประชามติที่ตลาดนัดสนามหลวง ในวันนั้นเป็นหนึ่งใน 11 คนที่ถูกตำรวจสันติบาลจับกุม ตรวจค้นบ้านและยึดเอกสารใบปลิว

เมื่อมีการเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุม จนกระทั่งมีการเดินขบวนในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ในที่สุด ธีรยุทธและผู้ที่ถูกจับกุมคนอื่น ๆ ก็ได้รับการปล่อยตัว และหลังจากนั้น ธีรยุทธยังได้เป็นหนึ่งในแกนนำของผู้ชุมนุมเข้าเจรจากับทางรัฐบาล จนได้ข้อสรุปเพียงพอที่จะยุติการชุมนุม แต่ทว่าสถานการณ์ในส่วนของผู้ชุมนุมเริ่มที่จะควบคุมความสงบไม่อยู่แล้ว เนื่องจากรอคอยผลการเจรจาเป็นเวลานาน ประกอบกับจำนวนผู้ชุมนุมที่มาก ทำให้เกิดอุปสรรคในการสื่อสาร เมื่อทางธีรยุทธออกมา และพบกับสถานการณ์เช่นนี้ ก็ได้ขอผู้ที่ทำการนำผู้ชุมนุม ขึ้นรถปราศรัยชี้แจงกับผู้ชุมนุมด้วยตนเอง เพื่อที่จะให้ยุติการชุมนุมลงโดยสงบ แต่ทว่าในที่สุดก็เกิดการปะทะและนองเลือดกันในรุ่งเช้าวันต่อมา [4]

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา และชีวิตการทำงาน

เมื่อปี พ.ศ. 2519 ได้เดินทางไปใช้ชีวิตในป่าแถบจังหวัดน่าน และเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ในฐานะเลขานุการประสานงานผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย เป็นเวลาถึงสี่ปีครึ่ง ก่อนจะเดินทางไปทำงานวิจัยในสาขาปรัญชาและสังคมวิทยาที่สถาบันสังคมศึกษา ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้วุฒิเทียบเท่าปริญญาโท และศึกษาต่อปริญญาเอกสาขาสังคมมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยไนเมเกน ประเทศเดียวกัน ใน แต่ไม่ได้สอบวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกก็เลิกเรียนเสียก่อน (ปัจจุบันจึงยังเป็น Phil.D. Candidate อยู่[5][6])

หลังจากเรียนจบ ก็สมัครทำงานเป็นวิศวกรของบริษัทเอกชนอยู่ระยะหนึ่ง เคยทำงานเป็นนักวิจัยที่สถาบันสังคมศึกษา ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และทำงานวิจัยให้กับมหาวิทยาลัยบีเลเฟลท์ ประเทศเยอรมนี[7] เมื่อกลับเมืองไทยในปี พ.ศ. 2528 จึงเริ่มบทบาททางการเมือง ในฐานะนักคิด นักวิชาการ นักปรัชญา โดยทำการวิจารณ์การเมืองและสำรวจประชามติ เคยเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการสถาบันไทยคดีศึกษา

ปัจจุบัน ธีรยุทธเป็นอาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คิดว่าตัวเองเป็นนักคิดมากกว่านักเขียน จึงเน้นการทำงานด้านวิชาการ โดยพยายามเขียนหนังสือ ตำรา และบทความทางวิชาการ พร้อมโจมตีการทำงานของรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ

แหล่งที่มา

WikiPedia: ธีรยุทธ บุญมี http://www.14tula.com/activity/book14tula13kabod.p... http://www.artgazine.com/shoutouts/viewtopic.php?t... http://www.baanjomyut.com/library/14tula/page01.ht... http://www.the-thainews.com/misc/journal/jn030348_... http://osk115.tripod.com/news34p9.htm http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2005q1/article20... http://www.sriburapha.net/sriburapha_writers.php http://web.archive.org/20040407013113/www.geocitie... http://www.sameskybooks.org/infoshow.php?id=32 http://www.skyd.org/html/hot/SriburapaAward46.html